มิวเซียมสิงห์บุรี


มิวเซียมสิงห์บุรี จัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่อง “ทรัพย์เมืองสิงห์” ภายในอาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ.๑๓๐) เพื่อเล่าเรื่องราวเมืองสิงห์บุรี ผ่านประวัติศาสตร์สังคม ผู้คน ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเมือง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อร่างสร้างเมือง จนถึงปัจจุบัน

ภายในอาคาร มีนิทรรศการทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่

1. ทรัพย์เมืองสิงห์
“หลักฐาน” ทรัพย์เมืองสิงห์ จำนวนมากมาย ยืนยันความสำคัญของสิงห์บุรี ตั้งแต่หลายพันปีก่อนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องถึงทวารวดี สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนเป็นสิงห์บุรีวันนี้

2. ทรัพย์เมืองเก่า
“ชาวสิงห์บุรี” ในยุคดึกดำบรรพ์รวมกลุ่มตั้งหมู่บ้านกระจัดกระจายกันตามที่ต่าง ๆ แล้วพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี มีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่น ๆ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหัวเมืองสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในยุค สิงห์ - อินทร์ - พรหม ปัจจุบันยังมีทรัพย์ที่ยืนยันความรุ่งเรืองของยุคนี้อยู่มากมายในสิงห์บุรี

3. ทรัพย์ในดิน
“เมืองเตาเผา” สิงห์บุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตภาชนะดินเผาขนาดยักษ์ใหญ่ มีเตาเผาจำนวนนับร้อยเตา ผลิตภาชนะดินเผาส่งขายในอยุธยา และส่งออกไปทั่วโลกไกลถึงทวีปแอฟริกา มี “ซิกเนเชอร์” สำคัญยืนยันความเป็นทรัพย์ในดินของสิงห์บุรี คือ “ไหสี่หู” ภาชนะที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากสิงห์บุรี

4. ทรัพย์สลาย
“กรุงแตก” ทำให้สิงห์บุรีที่เจริญรุ่งเรืองมานับพันปี ต้องโรยราในชั่วข้ามคืน เตาเผาถูกทิ้งร้างกลายเป็นอดีต แม้จะมีชาวสิงห์บุรีและชาวเมืองใกล้เคียงร่วมมือกัน “ปกป้องถิ่น” จนคนสุดท้ายใน “ศึกบางระจัน” แต่ไม่อาจต้านทานศึกใหญ่ครั้งนั้นได้ ทรัพย์เมืองสิงห์สลายไป พร้อม ๆ กับกรุงศรีอยุธยา

5. ทรัพย์ทรงจำ
“เมืองแฝดสาม” สิงห์ - อินทร์ - พรหม เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ หลายครั้ง ตั้งแต่เป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างรัฐโบราณ จนถึงเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการยุบรวม สิงห์ - อินทร์ – พรหม เป็น “เมืองสิงห์บุรี” เมืองเดียว
7. ทรัพย์เมืองสิงห์
“เมืองดี คนดี ของดี” เมืองสิงห์บุรี มีทรัพย์เมืองสิงห์ซุกซ่อนอยู่จำนวนมาก ทุกซอกทุกมุมของทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ล้วนมี “สตอรี่” ให้ค้นหาที่มีความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารการกิน และ “ของใหม่” ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นทรัพย์เมืองสิงห์ในปัจจุบัน

7. ทรัพย์ปัญญา
“สิงห์บุรีโมเดล” ถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐๐ ปีก่อน เพื่อควบคุมน้ำในหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ด้วยคลองขุด “ใยแมงมุม” ที่บ้านคูเมือง อินทร์บุรี ซึ่งเชื่อกันว่ากรุงศรีอยุธยาก็ใช้โมเดลนี้ขุดคูคลองเพื่อควบคุมน้ำเช่นกัน ถือเป็นทรัพย์ปัญญาและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศ

8. ทรัพย์วันหน้า
“สิงห์บุรีในฝัน” คือเกมทดสอบการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืน ที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนในอนาคตได้ด้วยจินตนาการของทุก ๆ คน เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเมืองทั้งในทาง สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และวัฒนธรรม ให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์น่าอยู่ น่าเยือน สำหรับทุกคน

#แสงสีสิงห์ #LetsGlowSingburi #สิงห์บุรีเมืองน่าอยู่ #TATLopburi #TrendyC2ภาคกลาง #ความสุขง่ายง่ายหาได้ที่ภาคกลาง #เที่ยวเมืองไทยAmazingยิ่งกว่าเดิม
ใหม่กว่า เก่ากว่า